วัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมที่สำคัญ
อันเป็นเอกลักษณ์ของตำบลสองพี่น้อง
วัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งพิธีกรรมและความเชื่อของชาวตำบลสองพี่น้อง ส่วนใหญ่จะมาจากความเชื่อตามธรรมเนียมของชาวจีน ซึ่งในบางครั้งชาวไทยก็ยังรับเอาวัฒนธรรมและความเชื่อเหล่านี้ไปใช้ด้วยเช่นกัน
เทศกาลตรุษจีน
เทศกาลตรุษจีนของชาวตำบลสองพี่น้องจะเริ่มตั้งแต่ วันแรม 14 ค่ำ เดือน 2เป็นต้นไป วันแรกของเทศกาลตรุษจีนนี้เราเรียกว่า วันจ่าย ชาวสองพี่น้องเชื้อสายจีนรวมทั้งคนไทยด้วยจะออกมาจับจ่ายซื้อข้าวของและอาหารที่จำเป็นในการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ในวันจ่ายนี้ตลาดบางลี่จะคึกคักมากมี ผู้คนมากมายเป็นวันที่มีเงินสะพัดมากที่สุดในรอบปีก็ว่าได้ วันที่สองของเทศกาลตรุษจีน คือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 2 หรือวันไหว้ ชาวจีนถือว่าวันนี้เป็นวันสิ้นปี ทุกบ้านจะต้องตื่นขึ้นมาเตรียมของเซ่นไหว้และทำอาหารแต่เช้ามืดโดยในช่วงเช้าจะมีการเซ่นไหว้เทวดาประจำบ้านผู้ปกปักษ์ดูแล หรือ เหล่าเอี๊ย และตี่จู่เอี๊ย ซึ่งของเซ่นไหว้ประกอบไปด้วย
- เนื้อสัตว์สามชนิด หรือซาแซ บางครั้งอาจมีมากถึงห้าชนิด เรียกว่า โหงวแซ โดยมากมักจะเป็น
เป็ด,ไก่ และเนื้อหมู
- ผลไม้สามชนิด (หรืออาจจะเป็นห้าชนิดก็ได้)โดยจะต้องมีส้มเป็นหลัก
- สุรา
- น้ำชา
- ขนมเข่ง
- ขนมเทียน
ในบางบ้านอาจมีการไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ และไหว้พระพุทธรูปด้วย ซึ่งเป็นการนำเอาความเชื่อแบบไทยผสม
เข้าไป และเมื่อเซ่นไหว้เทวดาประจำบ้าน หรือเหล่าเอี๊ย และ ตี่จู่เอี๊ยแล้ว ในช่วงสายก็จะเริ่มเตรียมอาหารเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งของเซ่นไหว้ประกอบไปด้วย
- เนื้อสัตว์สามชนิด หรือซาแซ บางครั้งอาจมีมากถึงห้าชนิด เรียกว่า โหงวแซ โดยมากมักจะเป็นเป็ด,ไก่
และเนื้อหมู
- ผลไม้สามชนิด (หรืออาจจะเป็นห้าชนิดก็ได้) โดยจะต้องมีส้มเป็นหลัก
- สุรา
- น้ำชา
- ข้าวสวย
- กับข้าว
- ผัดหมี่ซั่ว ซึ่งมีความหมายถึงอายุที่ยืนยาว ดังนั้นในการผัดจึงห้ามตัดเส้นหมี่ซั่วอย่างเด็ดขาด
- ขนมเข่ง
- ขนมเทียน
- ขนมถ้วยฟู หรือขนมสาลี่ ซึ่งมีความหมายถึงความรุ่งเรืองเฟื่องฟู
- ขนมหวานอื่น ๆ
- กระดาษเงินกระดาษทอง
- ของไหว้อื่น ๆ
ในการเซ่นไหว้บรรพบุรุษนี้ ชาวสองพี่น้องจะนำรูปถ่ายของบรรพบุรุษมาตั้งไว้บริเวณโถงกลางของบ้าน แล้วลูกหลานทุกคนจะจุดธูปเทียนเพื่อเชิญบรรพบุรุษมารับประทานอาหารที่เตรียมไว้ให้ ทิ้งไว้จนกระทั่งธูปหมดดอก จึงจะลาของไหว้ต่าง ๆ ได้ จากนั้นก็จะนำกระดาษเงินกระดาษทองไปเผา ซึ่งชาวสองพี่น้องเชื่อว่าเป็นการส่งเงินและทองไปให้บรรพบุรุษได้ใช้สอยในอีกโลกหนึ่ง หลังจากเซ่นไหว้บรรพบุรุษเรียบร้อยแล้วก็ถึงเวลาของการแจกเงินใส่ในซองสีแดง ที่เรียกว่า อั่งเปา หรือ แต๊ะเอียให้กับเด็ก ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ นำเงินไปใช้เที่ยวในวันขึ้นปีใหม่
สำหรับในบางบ้านยังมีการเซ่นไหว้ผีไม่มีญาติ หรือวิญญาณเร่ร่อนในช่วงบ่ายอีกด้วย ซึ่งชาวสองพี่น้องเรียกผีไม่มีญาติ หรือวิญญาณเร่ร่อนเหล่านี้ว่า ห่อเฮียตี๋ ซึ่งจะต้องจัดเตรียมอาหารไว้มาก ๆ เพื่อเลี้ยงวิญญาณที่ไม่มีลูกหลานหรือญาติพี่น้องเซ่นไหว้ในวันตรุษจีน
หลังจากเสร็จพิธีเซ่นไหว้ต่าง ๆ แล้ว ชาวสองพี่น้องก็จะเริ่มเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านเรือนให้เรียบร้อยภายในวันสิ้นปีนี้ ชาวสองพี่น้องยังเชื่ออีกว่าวันนี้ทุกบ้านจะต้องหุงข้าวไว้ให้เต็มหม้อและจะทิ้งข้าวคาหม้อไว้ข้ามคืนไปถึงวันขึ้นปีใหม่เพื่อเป็นเคล็ดว่าจะได้มีกินมีใช้ไปตลอดทั้งปี
ในปัจจุบันคนไทยในสองพี่น้องก็ยังรับเอาประเพณีเซ่นไว้บรรพบุรุษในวันไหว้ไปใช้ด้วยเช่นกัน และยังมีการต่อยอดความคิดด้วยการเซ่นไหว้แม่ย่านางรถยนต์ในวันนี้อีกด้วย
วันที่สามของเทศกาลตรุษจีน คือวันขึ้น1 ค่ำ เดือน 3 เรียกว่าวันเที่ยว ชาวจีนเรียกวันนี้ว่าวันชิวอิก ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ในวันนี้ทุกคนจะตื่นแต่เช้า หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายกันด้วยคำพูดที่ไพเราะ และพูดแต่เรื่องดี ๆ กล่าวอวยพร ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวกใช้ ให้แก่กัน ไม่มีการพูดคำหยาบหรือสิ่งไม่เป็นมงคล ทุกคนจะแต่งกายด้วยสีที่เป็นมงคล คือ สีแดง หรือสีชมพู มีการจุดประทัดเฉลิมฉลองกันแต่เช้า ทุกคนจะหยุดทำงานทุกอย่างเพื่อฉลองวันขึ้นปีใหม่ และชาวสองพี่น้องยังเชื่อว่าหากวันนี้ทำงานก็จะต้องทำงานไปตลอดทั้งปี ในวันนี้ทุกบ้านจะไม่มีการกวาดบ้าน เพราะเชื่อว่าจะเป็นการกวาดเอาสิ่งที่เป็นมงคลออกไป เด็ก ๆ ก็จะได้ใช้เงินอั่งเปา หรือแต๊ะเอียไปเที่ยวหรือซื้อข้าวของที่อยากได้
ในวันนี้ชาวสองพี่น้องจะออกมาร่วมกันเฉลิมฉลองโดยทางโรงเจฮกเฮงตั๊วได้จัดขบวนแห่สิงโต การแสดงของคณะหล่อโก้ว (วงดนตรีที่ใช้สำหรับการแสดงเชิดสิงโต) รวมทั้งขบวนแห่ของเด็ก ๆ ลูกหลานชาวสองพี่น้องที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสวยงามอัญเชิญของเซ่นไหว้ไปถวายแด่องค์ฮุกโจ้วที่โรงเจอีกด้วย และในเทศกาลตรุษจีนนี้ทางคณะกรรมการโรงเจฮกเฮงตั๊วก็จะจัดให้มีงิ้วเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองตลาดบางลี่ 4 คืน ที่บริเวณหน้าพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตลาดบางลี่และหลังจากผ่านวันขึ้นปีใหม่ หรือวันชิวอิกไปแล้ว ชาวสองพี่น้องถือว่ายังอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของชาวจีนอยู่อีก 1 สัปดาห์ โดยจะเรียกเรียงตามลำดับ คือ วันชิวหยี วันชิวซา วันชิวสี่ วันชิวโหงว และชิวลัก

ขบวนแห่ของเด็กๆ ในเทศกาลตรุษจีน
งานประเพณีสงกรานต์
ประเพณีสงกรานต์ของชาวสองพี่น้องจะมีขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เหมือนกับประเพณีสงกรานต์โดยทั่วไป โดยชาวสองพี่น้องจะไปทำบุญตักบาตรในตอนเช้า จากนั้นในช่วงบ่ายก็จะมีพิธีสรงน้ำพระด้วยน้ำอบไทย รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ และเล่นสาดน้ำสงกรานต์เพื่อคลายร้อนด้วยกัน
แต่จะมีพิธีสำคัญอีกพิธีหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของสองพี่น้องนั่นคือ ในช่วงสายของวันสงกรานต์ ทางคณะกรรมการโรงเจฮกเฮงตั๊วจะทำพิธีอัญเชิญองค์ ฮุกโจ้ว พระพุทธรูปทองคำซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของชาวสองพี่น้องออกมาให้ชาวสองพี่น้องได้ร่วมกันสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งจะมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในหนึ่งปี
งานประเพณีสงกรานต์ที่ถือว่าเป็นงานประจำปีของตำบลสองพี่น้องก็คือ งานประเพณีสงกรานต์เทศบาลเมืองสองพี่น้อง ซึ่งจัดกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 11 – 13 เมษายนของทุกปี และได้จัดติดต่อกันเป็นประจำทุกปีมานานกว่า 46 ปีแล้ว งานประเพณีสงกรานต์ของเทศบาลนี้เดิมเรียกว่า งานโรงไฟฟ้า เนื่องจากในสมัยก่อนจัดกันที่บริเวณหน้าโรงผลิตไฟฟ้าของเทศบาล โดยมีพิธีเปิดงานที่ยิ่งใหญ่ รวมทั้งมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้งขบวนแห่สงกรานต์ที่สวยงามของหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ใกล้เคียง การเล่นน้ำสงกรานต์ และมหรสพทั้งภาพยนตร์ ดนตรี ลิเก รวมทั้งสวนสนุกและความบันเทิง เช่น รถไต่ถัง สาวน้อยตกน้ำ อาหารและสินค้าต่าง ๆ ให้เลือกซื้อเลือกชมมากมาย ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นงานใหญ่ระดับอำเภอเลยทีเดียว

ปัจจุบันเทศบาลเมืองสองพี่น้องก็ยังคงเอกลักษณ์ของการจัดงานประเพณีสงกรานต์ไว้ โดยยังคงจัดงานตั้งแต่วันที่ 11 – 13 เมษายนของทุกปี และคงรูปแบบของการจัดงานไว้เหมือนเดิม แต่ได้มีการปรับปรุงกิจกรรมต่าง ๆ ให้เข้ายุคสมัยและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และสืบสานประเพณีของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไปเช่นเดียวในอดีตที่ผ่านมา

งิ้วเดือนสี่
งานงิ้วเดือนสี่ เป็นงานประเพณีของชาวตลาดบางลี่ เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 ถึงวันแรม 7 ค่ำ เดือน 4 ของจีน จำนวน 8 คืน ที่บริเวณตลาดหน้าพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อเป็นการบูชาศาลเจ้าปึงเถ่ากง ชาวตลาดบางลี่จะจัดการแสดงงิ้ว 2 คณะ ๆ ละ 4 คืน ประชาชนชาวตลาดบางลี่จะร่วมกันประมูลสิ่งของต่าง ๆ เพื่อเป็นการทำบุญและหารายได้ให้กับโรงเจ
เทศกาลกินเจ
เทศกาลกินเจเป็นเทศกาลที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะร่วมกันทำบุญทำทานด้วยการงดการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ทุกชนิด รับประทานแต่พืชผักเพื่อเป็นการให้ชีวิตและงดเว้นการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตด้วยกัน โดยเทศกาลกินเจจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน รวม 9 วัน แต่สำหรับชาวตลาดบางลี่ เทศกาลกินเจจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 15 ค่ำ เดือน 8 ของจีน คือเริ่มก่อนเทศกาล 1 วัน โดยชาวตลาดบางลี่จะพร้อมใจกันรับประทานอาหารเจ สวมใส่เสื้อผ้าสีขาวและร่วมกันทำบุญที่โรงเจฮกเฮงตั๊วด้วยกัน โดยทางโรงเจจะมีอาหารเจเลี้ยงให้กับประชาชน 3 มื้อตลอดเทศกาลกินเจ (แต่เดิมมีการเลี้ยงอาหารเจมื้อดึกด้วย โดยทางโรงเจจัดทำเพื่อให้เด็ก ๆ ที่มาช่วยทางโรงเจเวียนธูปในตอนค่ำ แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไป)
ในวันแรกของเทศกาลกินเจ (ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9) ชาวตลาดบางลี่จะมาร่วมในพิธีเชิญเจ้า หรือที่เรียกกันว่า เฉียวฮุกโจ้ว เพื่อเป็นการเริ่มเทศกาลกินเจ
วันที่ 3 ของเทศกาลกินเจ หรือวันชิวซา จะมีพิธีสวดมนต์โดยโรงเจฮกเฮงตั๊วจะนิมนต์พระสงฆ์จากวัดโพธิ์แมน กรุงเทพมหานคร มาเป็นผู้นำสวด ซึ่งจะสวด 5 ครั้งใน 1 วัน ได้แก่ ตอนเช้ามืด (ประมาณตีห้าครึ่ง) , ก่อนอาหารเช้า , ก่อนอาหารกลางวัน , เวลาสี่โมงเย็น และเวลาหนึ่งทุ่มทุกวันจนสิ้นสุดเทศกาลกินเจ ในวันขึ้น 3 ค่ำ และวันขึ้น 6 ค่ำ หรือวันที่ 3 และวันที่ 6 ของการกินเจก็จะมีพิธีเชิญเจ้าใหญ่ หรือ ตั่วเจคี้มาร่วมพิธีกินเจด้วย
ในวันที่ 7 ของการกินเจ หรือวันชิวฉิก จะเป็นวันปล่อยสัตว์ (หรือตั่งเจคี้) ส่วนในวันที่ 8 (วันชิวโป้ย) ในช่วงบ่ายจะมีพิธีลอยกระทง เพื่อเป็นการบูชาเจ้าแม่กวนอิม ชาวตลาดบางลี่จะพร้อมใจกันแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาว นำกระทงไปลอยกันที่บริเวณคลองสองพี่น้องหน้าโรงเจ ในวันนี้จะมีการชักธงสีเหลืองที่หน้าโรงเจ และจะไม่มีการเป่าป่งเซี้ยง(ป่งเซี้ยง คือแตรที่ใช้สำหรับเป่าไล่ดวงวิญญาณ) เพื่อให้ดวงวิญญาณต่าง ๆ สามารถมารับส่วนบุญส่วนกุศลได้ และในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (วันชิวเก้า) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลกินเจชาวบางลี่ถือว่าเป็นวันให้ทานที่ใหญ่ที่สุด โดยจะมีการแจกทานแก่ผู้ยากไร้ทั่วไป ชาวตลาดบางลี่จะจัดเครื่องเซ่นไหว้รวมทั้งเสื้อผ้าข้าวของต่าง ๆ มาที่โรงเจเพื่อทำพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ผู้ที่ล่วงลับ หรือสัมภเวสีมารับส่วนกุศล และจะมีการทำพิธีตั้งศาลเพื่ออัญเชิญเจ้าผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลดวงวิญญาณต่าง ๆ ไม่ให้มาแย่งเครื่องเซ่นไหว้ที่มีการเขียนชื่อผู้รับเอาไว้
ตลอดทั้ง 10 วันของเทศกาลกินเจชาวตลาดบางลี่จะพร้อมใจกันแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวแล้วมาร่วมกันประดิษฐ์กระทง หรือทำกระดาษเงินกระดาษทองให้กับโรงเจเพื่อนำไปจำหน่ายแก่ผู้ที่มากินเจที่จะซื้อไปถวายเจ้า หรืออุทิศให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว แต่เดิมในเทศกาลกินเจของชาวตลาดบางลี่จะมีงิ้วเพื่อถวายเจ้าด้วย แต่เนื่องจากงิ้วต้นทุนในการจ้างค่อนข้างสูง ประกอบกับมีผู้สนใจงิ้วน้อยลง ทางโรงเจจึงได้เปลี่ยนจากงิ้วมาเป็นภาพยนตร์เพื่อถวายเจ้าแทน
งานประเพณีลอยกระทงวัดอัมพวัน
งานประเพณีลอยกระทงวัดอัมพวันเป็นงานประจำปีที่จัดติดต่อกันมานานกว่า 50 ปี โดยจัดขึ้นที่วัดอัมพวัน ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 รวมระยะเวลา 3 วัน 3 คืน ซึ่งเป็นงานประเพณีที่เก่าแก่ของ
ท้องถิ่น และเป็นงานใหญ่ระดับอำเภออีกงานหนึ่ง
ในวันแรกของการจัดงานคือวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 ตอนกลางวันจะมีพิธีสงฆ์ โดยประชาชนชาวสองพี่น้องจะมาร่วมพิธีที่บริเวณหน้าพระนอนวัดอัมพวัน นอกจากนี้ชาวคลองมะดันและใกล้เคียง โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก ๆ จะมาร่วมกันประดิษฐ์กระทงให้กับวัดอัมพวัน เพื่อนำไปจำหน่ายในคืนวันลอยกระทงด้วย
ทุกคืนของการจัดงานจะมีกิจกรรมความบันเทิง มหรสพสมโภช และการออกร้านจำหน่ายสินค้ามากมายในคืนวันลอยกระทงเมื่อใกล้เวลาเที่ยงคืน พระสงฆ์และประชาชนจะร่วมในขบวนแห่นำกระทงไปเวียนรอบพระปรางค์วัดอัมพวัน 3 รอบ ทำพิธีรับศีล แล้วจึงนำกระทงไปลอยที่คลองมะดันบริเวณหน้าวัดในตอนเที่ยงคืนเพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทตามตำนานลอยกระทงแต่โบราณ
ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2547 เป็นต้นมา เทศบาลเมืองสองพี่น้องได้ร่วมกับวัดอัมพวันจัดงานประเพณีลอยกระทง เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีเก่าแก่ของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป ในช่วงบ่ายของวันลอยกระทงจะมีขบวนแห่กระทงของหน่วยงานและกลุ่มพลังมวลชนต่าง ๆ ในอำเภอสองพี่น้องมาร่วมในขบวนอย่างสนุกสนาน โดยขบวนแห่จะเคลื่อนออกจากบริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองสองพี่น้องเข้าสู่ตลาดบางลี่ เพื่อให้ประชาชนได้ชมกระทงและร่วมในขบวนแห่ จากนั้นก็มุ่งหน้าไปยังวัดอัมพวัน

ในตอนค่ำก็จะมีพิธีเปิดงานประเพณีลอยกระทงของเทศบาลเมืองสองพี่น้องที่สวยงามและยิ่งใหญ่ เล่าขานถึงตำนานการลอยกระทงให้คนรุ่นหลังได้ทราบ และร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่สืบไป พร้อมทั้งมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การประกวดนางนพมาศ การประกวดนางงามเกินร้อย การประกวดคู่รักตายาย การประกวดคุณยายนพมาศ รวมทั้งการแสดง และความบันเทิงมากมายบนเวที
|