ที่มาของชื่อ สองพี่น้อง มีอยู่ถึง 3 เรื่อง คือ
เรื่องแรก เล่าว่าที่บริเวณคลองสองพี่น้องแห่งนี้ มีช้างป่าโขลงหนึ่งซึ่งมี
ช้างใหญ่สองตัวซึ่งเป็นพี่น้องกันเป็นนายโขลงพาเหล่าช้างมากินน้ำในคลองเป็น
ประจำ จนทางเดินที่ช้างโขลงนี้เดินไปกินน้ำจมลึกเป็นลำคลองยาวตลอดจนถึง
แม่น้ำท่าจีน บริเวณแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า สองพี่น้อง
เรื่องที่สอง เล่าว่ามีชายหนุ่มสองคนพี่น้องตกลงกันว่าจะแข่งกันสร้างวัด
ณ บริเวณนี้ คือวัดท่าจัด และวัดโคกเหล็ก (ปัจจุบันเหลือเพียงซากวัดร้างเท่านั้น) ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน จึงเรียกชื่อคลองซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดทั้งสองนี้ว่า สองพี่น้อง
เรื่องที่สาม มีชายหนุ่มกำพร้าสองคนเป็นพี่น้องซึ่งรักใคร่กันมาก เมื่อ
จะมีครอบครัวก็คิดว่าจะแต่งงานพร้อมกัน จึงได้ไปสู่ขอหญิงสาวสองคนที่เป็นพี่น้อง
กันที่อำเภอบางปลาม้า เมื่อถึงวันแต่งงานก็ได้ยกขบวนขันหมากไปทางเรือเดิน
ทางมาตามลำน้ำท่าจีน แต่เมื่อผ่านมายังบริเวณคลองสองพี่น้องในปัจจุบันก็ได้
เกิดอุบัติเหตุเรือล่ม ชายหนุ่มทั้งสองพี่น้องถูกจระเข้ในคลองจับกินเป็นอาหาร
บริเวณนี้จึงได้ชื่อว่า สองพี่น้อง ส่วนเจ้าสาวชาวบางปลาม้าทั้งสองก็กลายเป็น
หม้ายขันหมาก ที่อำเภอบางปลาม้าจึงมีชื่อ บ้านบางแม่หม้าย ปรากฏอยู่จนทุกวัน
นี้
นอกจากนี่ ชื่อหมู่บ้านต่างๆ ในตำบลสองพี่น้องก็มีที่มาของชื่อด้วยเช่นกัน
บ้านอำเภอเก่า
บ้านอำเภอเก่าเดิมชื่อตลาดสาน ในอดีตบริเวณหมู่บ้านอำเภอเก่าเดิมเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอสองพี่น้อง ตลาดสานจึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับข้าราชการและประชาชนที่มาติดต่อราชการที่อำเภอ จนเมื่อได้มีการย้ายที่ว่าการอำเภอสองพี่น้องไปอยู่บริเวณบ้านโพธิ์อ้น ริมถนนบางลี่-หนองวัลย์เปรียงตลาดสานซบเซาไป และได้เปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านอำเภอเก่าตามสถานที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอนั่นเอง
บ้านนายจาง
ชื่อบ้านนายจางมีที่มาจากชื่อของนายจาง สำเนียงล้ำ ผู้ซึ่งเป็นแกนนำชักชวนชาวบ้านให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้าน ท่านเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน และด้วยคุณงามความดีของนายจาง สำเนียงล้ำ เมื่อชาวบ้านได้รวมตัวกันตั้งชุมชน จึงได้ใช้ชื่อว่า ชุมชนนายจาง เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ท่านนั่นเอง
บ้านสองพี่น้อง
ในสมัยโบราณบริเวณบ้านสองพี่น้องเป็นพื้นที่ราบมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์เป็นป่ารกชัฏมากมาย ได้มีพระภิกษุนาม ขรัวตาคง หรือ สมเด็จพระพิรอด ซึ่งเป็นอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้สร้างวัดขึ้นที่บริเวณริมคลองสองพี่น้อง ท่านได้สังเกตเห็นว่ามีช้างป่าสองตัวลงมาดื่มน้ำที่คลองแห่งนี้เป็นประจำ ท่านจึงตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดสองพี่น้อง และชุมชนที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดก็ได้ใช้ชื่อบ้านสองพี่น้องตามชื่อวัดสืบมา
บ้านไผ่หมู่
ชุมชนไผ่หมู่เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีทั้งชาวไทยพุทธ และชาวไทยเวียดนาม หรือชาวญวน ที่นับถือศาสนาคริสต์นิการโรมันคาทอลิคอยู่รวมกัน โดยตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมคลองสองพี่น้อง ในสมัยก่อนชาวบ้านจะปลูกต้นไผ่ไว้สำหรับเป็นรั้วกั้นอาณาเขตบ้าน ใช้เป็นอาหาร และใช้ประโยชน์อื่น ๆ บริเวณนี้จึงมีต้นไผ่มากมาย และเรียกกันจนติดปากว่าบ้านไผ่หมู่จนถึงทุกวันนี้
บ้านบางลี่
ชื่อ บางลี่ ยังไม่มีใครสามารถยืนยันถึงที่มาและความหมายได้อย่างแน่นอน บ้างก็ว่ามาจาก บางอีลี่ หรือ บางนางลี่ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีชื่อเหล่านี้จริง
แต่ก็มีคำบอกเล่าจากท่านผู้อาวุโสในตลาดบางลี่ว่าชื่อ บางลี่ มาจากชาวจีนแต้จิ๋วที่เข้ามาบุกเบิกตั้งถิ่นฐานในตลาดบางลี่เมื่อร้อยกว่าปีก่อนและสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวจนมีฐานะมั่นคง จึงได้เรียกชุมชนแห่งนี้ว่า หมังหลี่ ซึ่งมีความหมายว่าไปแสวงโชคในที่ที่ไกลจากบ้านเกิดแล้วเจอผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความสำเร็จของตนที่ได้ดั้นด้นหนีความอดอยากจากบ้านเกิด แล้วสามารถสร้างฐานะเป็นปึกแผ่นได้นั่นเอง และคนรุ่นต่อ ๆ มาก็ได้เรียกเพี้ยนกันไปจนกลายเป็นบางลี่ในปัจจุบัน
บ้านโพธิ์อ้น
ในอดีตบริเวณบ้านโพธิ์อ้นมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่บริเวณสามแยก และพื้นที่บริเวณใต้ต้นโพธิ์นั้นก็เป็นที่อยู่อาศัยของตัวอ้นเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงนำชื่อของต้นไม้และชื่อสัตว์มารวมกันเรียกว่าหมู่บ้านโพธิ์อ้นจนถึงทุกวันนี้
บ้านศรีสำราญ
ชื่อหมู่บ้านศรีสำราญมาจากชื่อวัดศรีสำราญ วัดประจำชุมชนซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมวัดศรีสำราญตั้งอยู่ที่บ้านศรีสำราญ หมู่ที่ 2 แต่เมื่อหมื่นบำรุงโยธีได้ย้ายวัดจากที่เดิมมาอยู่ทางทิศเหนือและยังคงใช้ชื่อวัดศรีสำราญเหมือนเดิม ชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับวัดจึงเรียกหมู่บ้านของตนเองว่าหมู่บ้านศรีสำราญด้วย
บ้านรางโตนด
ชาวบ้านหมู่บ้านรางโตนดตั้งบ้านเรือนอยู่ริมสองฝั่งคลองรางโตนด
มาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านของตนเองตามชื่อคลองว่า หมู่บ้านรางโตนด
บ้านคลองมะดัน
หมู่บ้านคลองมะดันตั้งอยู่บนพื้นที่ดอน มีลำคลองเล็ก ๆ ไหลผ่าน และในสมัยโบราณบริเวณนี้มีต้นมะดันขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่าหมู่บ้านคลองมะดัน
บ้านสนิมแดง
เป็นชุมชนที่อยู่ใกล้กับวัดอัมพวัน (วัดคลองมะดัน) ต่อมาได้มีการขุดพบกรุพระเก่าที่บริเวณนี้ โดยพระที่พบนั้นมีสนิมสีแดงเกาะอยู่ทั่วทั้งองค์ ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านสนิมแดง ซึ่งในปัจจุบันบ้านสนิมแดงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นชุมชนร่วมพัฒนา แต่คนทั่วไปก็ยังเรียกกันติดปากว่าบ้านสนิมแดง
บ้านบางลี่เล็ก
หมู่บ้านบางลี่เล็กเป็นชุมชนชาวบางลี่เดิมที่ได้แยกตัวอกไปสร้างบ้านเรือนบริเวณฝั่งตรงข้ามวัดดงตาล ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากตลาดบางลี่มากนัก จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของบางลี่จึงเรียกชุมชนของตนเองว่าบ้านบางลี่เล็ก
บ้านสะพานโค้ง
ในสมัยโบราณสะพานข้ามคลองสองพี่น้องอยู่บริเวณโค้งน้ำคลองสองพี่น้อง บริเวณที่ตั้งอนุสรณ์สถานบ้านเกิดหลวงพ่อสด วัดธรรมกายในปัจจุบันหรือหมู่บ้านสะพานโค้งในปัจจุบัน ในสมัยก่อนนั้นสะพานข้ามคลองจะต้องสร้างให้สูงและโค้งมากเพื่อให้เรือขนาดใหญ่ลอดผ่านใต้สะพานไปได้ ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านบริเวณนี้ว่าบ้านสะพานโค้ง แม้ว่าในปัจจุบันบริเวณนี้ไม่มีสะพานข้ามคลองแล้วแต่ก็ยังเรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านบ่อดินทราย
บ้านบ่อดินทรายตั้งอยู่ริมคลองสองพี่น้องบริเวณใกล้กับหมู่บ้านบางใหญ่ แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นดินปนทราย ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่าหมู่บ้านบ่อดินทรายจนมาถึงปัจจุบัน
|